เวลาจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเอง

อ่าน.......ขำๆ

วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

จุดกำเนิดของโลก

โดย อายตนะ

เมื่อเอ่ยถึงศิลปะแบบสัจจนิยม (Realism) ซึ่งหมายถึงการวาดภาพในสิ่งที่เห็นหรือการวาดภาพตามความเป็นจริง คงต้องนึกถึงผลงานของ Courbet เป็นคนแรก     Jean Desir? Gustave Courbet เป็นจิตรกรชาวฝรั่งเศสและเป็นเจ้าสำนัก Realism เขาชอบวาดภาพทิวทัศน์ พื้นดิน ทะเล และการดำเนินชีวิตของผู้คนที่เป็นชาวบ้านธรรมดา ชาวนาหรือไม่ก็พวกคนทำงานในบ้านเศรษฐี    








Courbet เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1819 ที่เมือง Ornans ประเทศฝรั่งเศส ครอบครัวของเขาเป็นชาวนาที่ต่อต้านระบบกษัตริย์และขุนนาง ปู่ของเขามีส่วนร่วมในการปฏิวัติเมื่อปี ค.ศ.1789 มาแล้ว Courbet สนใจศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ เริ่มต้นจากการวาดภาพน้องสาวสามคนก่อน ในวัยเด็กเรียนหนังสือที่ College Royal เมือง Besaneon ในปี ค.ศ.1839 เดินทางเข้ามาอยู่ที่กรุง Paris เพื่อเรียนกฎหมายแต่แล้วก็ตัดสินใจเป็นจิตรกร      Courbet ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ Louvre เขาชอบที่จะวาดภาพคนรวมทั้งวาดภาพตัวเองไว้หลายภาพในปี ค.ศ.1843 เขาเดินทางไปประเทศเบลเยียมและประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ.1846-1847 เพื่อวาดรูปวิวทิวทัศน์และผู้คนที่พบเห็น    
 


 
Courbet เริ่มมีชื่อเสียงเมื่อเขาได้รับรางวัลเหรียญทองจากการส่งภาพวาดชื่อ After dinner at Ornans เข้าประกวดในปี ค.ศ.1849 ซึ่งต่อมารัฐก็ได้ซื้อภาพดังกล่าวไว้    

ภาพที่มีชื่อเสียงอีกภาพหนึ่งของ Courbet คือ A Burial at Ornans ภาพนี้เป็นภาพที่เขาวาดจากสิ่งที่เขาพบเห็นในพิธีฝังศพลุงของเขาเมื่อเดือน กันยายน ค.ศ.1848 ที่เมือง Ornans เป็นภาพที่ได้รับคำชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นการภาพ วาดงานศพที่โดยปกติแล้วจะวาดกันเฉพาะงานศพของกษัตริย์หรือไม่ก็พระผู้ใหญ่ แต่นี่กลับกลายเป็นภาพวาดงานศพของชาวบ้านธรรมดาสามัญคนหนึ่ง ขนาดของภาพก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากเพราะเป็นภาพวาดขนาดใหญ่มาก คือ ขนาด 3.1x6.6 เมตร ซึ่งภาพใหญ่ขนาดนั้นเหมาะสำหรับติดไว้ในวิหารหรือในวัง นอกจากนี้ ผู้คนที่อยู่ในภาพก็มีหน้าตาที่น่าเกลียดอีกด้วย    

เมื่อ Courbet มีชื่อเสียงมากขึ้น เขาก็เริ่มอาละวาดมากขึ้นเช่นกัน ด้วยท่วงท่าหน้าตาที่เป็นชาวบ้านมาก รวมทั้งวิธีการพูดจาที่ไม่เกรงใจใคร ทำให้คนระดับกลางและระดับสูงไม่ชื่นชอบผลงานของ Courbet แถมยังมองว่าเป็นพวกสังคมนิยมไร้การศึกษาอีกด้วย    

ในปี ค.ศ.1855 Courbet ส่งภาพวาดจำนวน 14 ภาพไปร่วมแสดงในงานแสดงสินค้านานาชาติด้านการเกษตร อุตสาหกรรมและศิลปะซึ่งจัดขึ้นบนถนน Champs-Elysees ในระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ.1855 เมื่อผู้จัดไม่ยอมรับภาพวาดจำนวน 3 ภาพ  เนื่องจากไม่มีพื้นที่ใหญ่พอโดย 2 ใน 3 ภาพวาดนั้นคือ A Burial at Ornans (3.1x6.6 เมตร) และ The Artist′s Studio (3.59x5.98 เมตร) Courbet ไม่พอใจผู้จัดมาก จึงจัดการเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเองโดยการเช่าพื้นที่เพื่อสร้างห้องขนาดใหญ่ ใกล้กับบริเวณที่มีการจัดงานเพื่อแสดงภาพวาดของเขาจำนวน 40 ภาพโดยตั้งชื่อห้องแสดงภาพว่า The Pavillion of Realism แม้คนจะเข้าไปชมน้อยและ Courbet ไม่สามารถขายรูปได้ แต่การกระทำดังกล่าวก็สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากขึ้นโดยเฉพาะในหมู่ศิลปินหัวรุนแรง

  ในปี ค.ศ.1857 Courbet ส่งภาพวาด 6 ภาพเข้าแสดงในงานแสดงภาพวาดประจำปีรวมทั้งภาพ Young Ladies on The Banks of The Seine ซึ่งเป็นภาพผู้หญิงขายตัว 2 คน นอนรอลูกค้าใต้ต้นไม้ริมฝั่งแม่น้ำ Seine ภาพวาดดังกล่าวถูกวิจารณ์อย่างหนักเช่นกัน
 
  Courbet หันมาวาดภาพ erotic ในปี ค.ศ.1860 เขาวาดภาพเปลือยจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าว
 

   





ค.ศ.1870 เป็นปีที่ชื่อเสียงของ Courbet พุ่งขึ้นไปยังจุดที่สูงที่สุดของอาชีพ แม้เขาจะได้รับอิสสริยาภรณ์ระดับสูงสุดคือ Legion d′Honneur แต่เขาก็ปฏิเสธที่จะรับด้วยเหตุที่ว่าไม่ชอบระบบการปกครองในขณะนั้น ตรงนี้เองที่ทำให้ Courbet หันไปสนใจการเมือง เขาเริ่มพูดคุยกับเพื่อนๆถึงการตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาล Napoleon ที่ 3 ต่อมาภายหลังการจลาจลในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ.1871 รัฐบาลชั่วคราว ( Paris Commune ) จัดตั้งขึ้นและได้มอบให้ Courbet รับผิดชอบดูแลพิพิธภัณฑ์ในกรุงปารีส Courbet เสนอให้ย้ายเสาหิน Vendome ที่มีรูปปั้นของ Napoleon อยู่บนยอดเสาไปไว้ที่อื่นเนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ที่จักรพรรดิ Napoleon สร้างขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะการสู้รบที่เมือง Austerlitz

ต่อมาในวันที่ 12 เมษายน มีการออกกฏหมายให้รื้อทำลายสัญลักษณ์ของจักรพรรดิ์ Napoleon ในวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ.1871 จึงได้มีการรื้อทำลายเสาหิน le Vendome แต่ต่อมาเมื่อมีการยุบเลิกรัฐบาลชั่วคราว ก็ได้มีการสร้างเสาหินให้กลับสู่สภาพเดิม วันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1871   Courbet ถูกศาลทหารสั่งจำคุก 6 เดือนและปรับ 500 francs เพราะถือว่าเป็นผู้จุดชนวนความคิดเกี่ยวกับการทำลายเสาหิน เมื่อพ้นโทษ เขาได้ย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านเกิดคือเมือง Ornans ในปี ค.ศ.1872 ปีต่อมามีการรื้อฟื้นคดีเสาหินขึ้นมาพิจารณาอีก Courbet เลยหนีไปอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1877 ศาลก็ได้มีคำพิพากษาตัดสินปรับ Courbet เป็นจำนวน 323,091.68 francs โดยให้แบ่งจ่ายเป็นรายปี เป็นเวลา 33 ปีๆละ 10,000 francs แต่ยังไม่ทันจ่ายงวดแรก Courbet ก็เสียชีวิตลงเสียก่อนด้วยโรคตับแข็งเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.1877
 

 
 ภาพวาดที่เป็นสัญลักษณ์ของ Realism ที่สุดที่ Courbet วาดก็คือภาพที่มีชื่อว่า The Origin of The World หรือจุดกำเนิดของโลก Courbet วาด ภาพนี้ในปี ค.ศ.1866 ภาพนี้เป็นภาพที่มองดูแล้วเหมือนภาพถ่ายมาก ภาพวาดขนาด 46x55 เซ็นติเมตร มุดประชิดของอวัยวะเพศหญิง นอนเปลือยอ้าขาอยู่บนเตียง ไม่เห็นหัว แขนและช่วงล่าง ผู้ที่เป็นนางแบบคือ Joanna Hifferman คู่รักของศิลปินชาวอเมริกัน James Whistler Courbet วาดภาพหญิงสาวผู้นี้หลายภาพ แต่ก็มีผู้สงสัยว่าจะเป็นคนๆเดียวกันหรือไม่เพราะผมกับขนคนละสีกัน Courbet วาดรูปนี้ให้กับ Khalil Bey นักการทูตชาวตุรกีที่ต้องการรูปแบบนี้ไปเก็บสะสม ต่อมาขายต่อไปหลายมือ  
จนกระทั่งในปี ค.ศ.1955 Jacques Lacan จิตแพทย์ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ประมูลได้ในราคา 1.5 ล้านฟรังก์ เมื่อ Jacques Lacan ถึงแก่กรรมลงในปี ค.ศ.1981 รัฐบาลฝรั่งเศสได้เสนอยกเว้นไม่เก็บภาษีมรดกกับทายาทของ Jacques Lacan เพื่อแลกกับภาพวาด The Origin of The World    
      ด้วยข้อจำกัดทางกฏหมาย ทำให้ไม่สามารถนำเอาภาพวาด The Origin of The World ที่ชัดเจนมาให้ดูได้เพราะเป็นภาพที่บางคนดูแล้วอาจบอกว่าอนาจาร ดังนั้น ผู้สนใจอยากจะชมภาพวาดที่ชัดเจนก็ต้องเข้าไปที่ http://www.gustavecourbet.org     ปัจจุบัน The Origin of the World แขวนอยู่บนผนังในพิพิธภัณฑ์ d′Orsay กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส       
   
อายตนะayatana2010@live.com
30 มกราคม 2011

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น