เวลาจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเอง

อ่าน.......ขำๆ

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ปิดตำนานบรมครูเสื้อผ้าชุดไทย "ลำยงค์ บุณยรัตพันธุ์"

Pic_103609

แม้ในยุคปัจจุบันจะมีดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆแจ้งเกิดราวกับดอกเห็ด แต่ถ้าย้อนกลับไปในยุคทศวรรษ 1960-1980 คงไม่มีใครโด่งดังเป็นที่รู้จักเท่ากับ "อ.ลำยงค์ บุณยรัตพันธุ์" ผู้ก่อตั้งห้องเสื้อระพี และโรงเรียนสอนตัดเสื้อระพี ย่านศูนย์การค้านครหลวง ประตูน้ำ ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้รับการยกย่องจากวงการประกวดขาอ่อนเมืองไทย ให้เป็นปรมาจารย์ด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าชุดไทย ที่มีฝีมือเฉียบคมเหนือชั้นระดับตำนาน แต่ยังเป็นหัวหอกสร้างชื่อเสียงและเผยแพร่วัฒนธรรมการแต่งกายของไทยให้เป็น ที่เลื่องลือไปทั่วโลก

และถึงในวันนี้ "อ.ลำยงค์" จะจากโลกไปอย่างสงบ ด้วยวัย 83 ปี แต่ผลงานซึ่งได้สร้างสรรค์ไว้ตลอดช่วงเวลาครึ่งศตวรรษ ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการแฟชั่นเมืองไทย ก็ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำมิรู้ลืมเลือน

ก่อนจะประสบความสำเร็จ ได้เป็นเจ้าของห้องเสื้อระพี และเป็น "แม่ยงค์" ผู้ให้ชีวิตใหม่แก่เหล่านางงามทุกค่ายทุกสังกัด ชีวิตของ "อ.ลำยงค์" ต้องผ่านบททดสอบหินๆมาแล้วนับไม่ถ้วน


พื้นเพดั้งเดิมของ "อ.ลำยงค์" เป็นคนจังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดและโตที่แปดริ้ว คุณยายเป็นชาวนา อยู่อำเภอพนมสารคาม แถวต้นกระบก พ่อแม่ทำรับเหมาก่อสร้าง แม้ฐานะทางบ้านจะไม่ยากจนข้นแค้น แต่ก็ไม่สุขสบายเหมือนที่ใครๆเข้าใจ เพราะเมื่อพ่อแม่เข้ามารับเหมาก่อสร้างที่กรุงเทพฯ ประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก ทำให้ลูกสาวคนโตคือลำยงค์ ต้องพักเรียนกลางคัน ตอนนั้นเธอเพิ่งจบชั้นประถม 4 จากฉะเชิงเทรา และกำลังจะเข้าเรียนต่อในโรงเรียนเทเวศร์วิทยาลัย ที่กรุงเทพฯ

"จำ ได้ว่า แม่กับเตี่ยเข้ามาทำรับเหมาก่อสร้างที่กรุงเทพฯ แม่เปิดขายข้าวแกงที่บางขุนพรหม ดิฉันเห็นแม่ทำงานเหนื่อยก็บอกว่า แม่ ขอหนูออกจากโรงเรียนมาช่วยแม่ขายของนะ แม่บอกว่าอย่าเลย อยากให้เรียนไปเรื่อยๆ แต่เราจับความรู้สึกได้ว่า แม่กับเตี่ยกำลังมีปัญหา คราวนี้ต้องย้ายบ้านอีก ไปอยู่เฉยๆ ปีหนึ่ง รอให้แม่กับเตี่ยสร้างหลักฐานได้ก่อน ถึงจะให้ดิฉันไปเรียนหนังสือต่อ ดิฉันเลยบอกว่า อย่าเรียนเลยนะ หนูก็โตแล้ว อายุ 14 ปีแล้ว...อยากช่วยแม่ทำงาน ตอนนั้นแม่อยากให้เรียนพยาบาล แต่ตัวเราไม่ชอบทางนี้เลย อยากเรียนตัดเสื้อมากกว่า น้าชายช่วยฝากไปอยู่กับร้านตัดเสื้อเล็กๆ ชื่อว่าร้านสมส่วน ครูสอนชื่อครูวิมล ยิ่งวิริยะ เขาตัดเสื้อสวยแต่ราคาแพงกว่าร้านอื่น


...เวลาเรียน เราก็เป็นเหมือนญาติ อยู่อย่างญาติ ไม่ใช่ลูกศิษย์ ต้องทำงานทุกอย่างที่ขวางหน้า ช่วยเขาถูบ้าน ช่วยเช็ดกระจก ตักน้ำใส่ตุ่มเขาไม่มีลูกจ้าง...เราทำทุกอย่างให้เขาสบอารมณ์ เพื่อจะได้วิชาความรู้ต่างๆ บางครั้งบางอย่างเขาไม่สอน เราก็ดูลักจำเอาเอง เขาให้ทำๆๆๆ เพราะถือว่านั่นคือการเรียน ก็เรียนและฝึกงาน อยู่ที่นี่ 2 ปี ถูกครูดุบ้างตีบ้างเป็นของธรรมดา พอเราเริ่มโตก็ชักเบื่อแล้ว เลยเขียนจดหมายขอพ่อแม่กลับบ้าน

...พอมาอยู่บ้านก็มานึกว่าจะทำอะไร เพราะเรียนจบก็จริง แต่อายุ 16 ปี เท่านั้น เลยไปหาฝึกงานกับรุ่นพี่ เขาเป็นกุลสตรีที่งามพร้อม เราก็ได้ความรู้ จากเขาเยอะ อยู่กับเขาปีหนึ่ง ได้เงินวันละ 5 สตางค์ พอออกจากที่นั่นก็มาเปิดร้านตัดเสื้อเล็กๆของตัวเองที่แปดริ้ว ขนาดห้องเดียว เป็นหุ้นส่วนกับรุ่นพี่ ระหว่างนั้นก็มีบุคคลสำคัญๆมาตัดเสื้อที่ร้านเรื่อยๆ มีอาจารย์ท่านหนึ่งชอบเอาเสื้อผ้าจากกรุงเทพฯมาให้เป็นแบบตัดเสื้อ เราได้เสื้อของเขาเป็นแบบก็ได้ความรู้ เพราะเสื้อเขาสวย ประณีต เรียบร้อย แล้วอาจารย์คนนี้เป็นอาจารย์สวยที่สุดในโรงเรียน เราก็ปั๊มแบบเลย นี่คือประสบการณ์ทำให้รู้ว่าที่รู้มายังไม่พอ ตอนหลังมีลูกสาวข้าหลวงจังหวัด เป็นนักเรียนอังกฤษ เอาตัวอย่างกระโปรงย้วยๆเย็บได้สวยมากมาเย็บที่ร้าน ก็ทำให้ได้เรียนรู้แบบใหม่ๆเพิ่ม ทำอยู่อย่างนี้เป็นปี ได้ความรู้เยอะ...หลังๆมาคุณนายข้าหลวงก็มาตัด แล้วก็ตัดให้ภรรยาผู้พิพากษา บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีพระคุณ แล้วก็ได้ทำชุดเจ้าสาวด้วย"


หลายคนมักสงสัยว่า จากเด็กสาวบ้านนอกธรรมดา "อ.ลำยงค์" โดดเข้าสู่วงการประกวดนางงามระดับชาติ และระดับจักรวาลได้อย่างไร

"เป็น คนชอบดูการประกวดขาอ่อนตามงานวัดตั้งแต่เด็ก แต่เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับการประกวดนางงาม ก็ตั้งแต่สมัยที่นางสาวไทย จัดประกวดที่สวนลุมฯ หรือสวนอัมพร ในงานรัฐธรรมนูญปีแรก ตอนนั้นดิฉันยังตัดเสื้ออยู่ที่แปดริ้ว ทางจังหวัดเห็นว่าเป็นคนเก่ง มีลูกค้าเยอะ ก็เลยให้หาสาวๆสวยๆส่งเข้าประกวดนางสาวไทย ด้วย...มีอยู่วันหนึ่ง กำลังนั่งเลี้ยงลูกอยู่ในบ้าน เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่าน แค่เห็นแวบเดียว ก็รู้ว่าผู้หญิงคนนี้สวยมาก จึงวิ่งไปถามเขาว่าบ้านอยู่ที่ไหน เขาบอกว่าอยู่หน้าวัดโสธร ดิฉันก็ตามไปดูถึงบ้าน เขาเป็นชาวสวน ก็ไปคลุกคลีที่บ้านเขาจนสนิท เลยชวนเขามาตัดเสื้อที่ร้าน และก็ชวนไปประกวดที่วัดแหลม ตัดเสื้อให้แบบเรียบที่สุดโดยใช้ผ้าแก้ว คอระบาย กระโปรงทรงสอบสีดำ พอส่งไปประกวดครั้งแรกได้ที่หนึ่งเลยดังมาก!! คราวนี้พวกข้าหลวง นายอำเภอก็รู้แล้วว่าที่ร้านเรามีคนสวย เลยมาขอให้ส่งประกวดนางสาวไทยทุกปี"


จนกระทั่งย้ายมาเปิดร้านในกรุงเทพฯอยู่แถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตั้งชื่อว่า ร้านตัดเสื้อระพี เพราะวันเปิดร้านตรงกับ "วันรพี" ขณะนั้นยังเป็นเพียงร้านห้องแถวเล็กๆ เริ่มจากกรรไกรเพียงอันเดียว "อ.ลำยงค์" หันมาจับงานทำเสื้อผ้าให้นางงามอย่างจริงจัง มีโอกาสได้เข้าไปจัดแฟชั่นโชว์บนเวทีประกวดนางงามด้วย และเริ่มคลุกคลีกับแวดวงบันเทิง โดยได้ทำเสื้อผ้าให้ดาราดังๆของยุคหลายคน รวมถึง "เพชรา เชาวราษฎร์"

ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี จากห้องแถวเล็กๆก็ค่อยๆขยายกิจการใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆจนมาเซ้งห้องแถวใหม่ บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ตรงข้ามสถานทูตอินโดนีเซีย ในช่วงนี้กิจการของร้านตัดเสื้อระพีเริ่มประสบความสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง แล้ว จนกระทั่งตัดสินใจย้ายทำเลไปอยู่ที่ศูนย์การค้าอินทรา เปิดเป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อระพีแห่งแรก บนพื้นที่ 4 คูหา ขณะที่ "อ.ลำยงค์" อายุได้ 40 ปีเศษ พอนักเรียนเยอะขึ้น จึงขยายพื้นที่ไปสร้างอาณาจักรที่ศูนย์การค้านครหลวง ประตูน้ำ เปิดเป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อระพีครบวงจร


ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นไม่นาน "คุณอารีย์ บุณยรัตพันธุ์" สามีของ "อ.ลำยงค์" ได้โน้มน้าวให้ภรรยาเดินทางไปดูงานในต่างประเทศบ้าง เพื่อเปิดหูเปิดตารับประสบการณ์ใหม่ๆ โดยปีแรกๆเริ่มจากบินไปโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จากนั้นจึงเลยไปดูงานที่ประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ เป็นเวลาเกือบปี

"ปีแรกๆทดลองไปโตเกียวก่อน ไปปักๆๆ เย็บๆๆ เขาก็ให้ใบรับรองมา แล้วเราก็ดูของเขาบ้าง พอดูก็รู้ว่าเรายังสู้เขาไม่ได้ คือไม่เคยลืมตัวนะ มีความคิดอยู่เสมอว่า เรายังทำอะไรไม่ได้ดีเท่าเขาหรอก กลับมาคิดดูแล้วก็เลยไปดูงานที่ฝรั่งเศสอีก ดิฉันเองก็ไม่รู้ภาษาฝรั่งเศส แต่ลูกสาวของเพื่อนสามีเขาอยู่ฝรั่งเศสมา 3 ปีแล้ว ก็มาเป็นล่ามให้มาสอนดิฉัน ไปถึงฝรั่งเศสก็ท่องภาษาฝรั่งเศส ดิฉันอ่านภาษาฝรั่งเศสไม่ได้นะ เรียนพูดเท่านั้น


...จากนั้นก็ไปดูงานที่ประเทศเยอรมนี เพราะโรงเรียนฝรั่งเศสปิด พอไปถึงก็ไปเจอนักหนังสือพิมพ์ เขาเห็นผลงานของเราก็ทึ่ง ชวนให้มาจัดแฟชั่นโชว์ ชุดไทยร่วมกับเขาที่เยอรมัน เลยได้ไปดูงานที่นั่น 3 เดือน ทั้งๆที่พูดภาษาเยอรมันไม่ได้เลย แล้วจึงเดินทางไปฝรั่งเศส ไปหาโรงเรียนเข้าเรียนอยู่สัก 8 เดือน ก็เรียนดีไซน์ เรียนตัดเสื้อ เรียนนางแบบ ตอนนั้นดิฉันอายุแค่ 39-40 ปี ก่อนเดินทางกลับเมืองไทยยังแวะไปอังกฤษ"

หลังกลับจากเมืองนอกเมือง นาแล้ว "อ.ลำยงค์" สนับสนุนให้ครูที่โรงเรียนสอนตัดเสื้อระพีได้เดินทางไปเปิดหูเปิดตาในต่าง ประเทศบ้าง แต่ส่งไปหลายรุ่น พอเรียนจบกลับมาก็หนีหมด เพราะไม่มีการทำสัญญา ตอนหลังทนไม่ไหวจึงขอร้องลูกสาวคนโต คือ "คุณเบญ-บวรพร สุทธิวานิช" ให้ลาออกจากงานแบงก์ เพื่อไปเรียนตัดเสื้อที่ฝรั่งเศส จะได้กลับมาช่วยแม่ดูแลโรงเรียน จากนั้นจึงส่งลูกชายไปเรียนตัดเสื้อที่อังกฤษ และส่งลูกสาวคนเล็ก คือ "คุณเจี๊ยบ-พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์" ไปเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่อายุ 14-15 ปี แล้วไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส โดยให้เรียนตัดเสื้อ ดีไซน์ และวิชานางแบบ


"คุณเจี๊ยบ–พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์" ลูกสาวคนเล็กของ "อ.ลำยงค์" ซึ่งเข้ามารับช่วงสานต่อตำนานช่างทำเสื้อชั้นสูง ย้อนรำลึกว่า..."ตอนหลังที่คุณแม่ค่อยๆเก่งขึ้นเพราะมีป๋ามายุให้ไปเมืองนอก แม่พูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร เพราะครูสอนอะไรทำได้หมด ครูสอนเป็นเซนติเมตร แต่ในหัวของแม่จะ จำเป็นนิ้ว และก็ทำเสื้อออกมาได้สวย จนครูทุกคนชม นี่คือพรสวรรค์จริงๆ ด้วยความที่แม่เก่งมาก พอเรียนจบก็ได้ไปฝึกงานกับนีน่า ริชชี่ ทันที...สำหรับ "เจี๊ยบ" เอง ยอมรับว่าแม่ทำให้เรารู้จักของสวยงามมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่เคยชอบอาชีพนี้ จำได้ว่าพวกเราโตมากับกองเศษผ้า นอนเล่นกันอยู่ใต้โต๊ะทำงานแม่ ปิดเทอมก็ไม่ได้ไปเที่ยว ต้องมาช่วยร้อยลูกปัด เวลาไปเก็บสตางค์ค่าทำเสื้อก็ถูกดูถูกสารพัด ทั้งๆที่เราเป็นเจ้า ของเงิน นี่คืออาชีพช่างเสื้อ...เป็นงานบริการที่รันทดมาก!! ชีวิตนี้จึงไม่เคยคิดอยากเป็นช่างตัดเสื้อเหมือนแม่ เพราะเห็นแม่ต้องเหนื่อยทั้งวันทั้งคืน คนทำอาชีพอย่างอื่นยังมีเวลาเลิก แต่แม่ไม่มีเวลาเลิก ตอนหลังได้มาสัมผัสตรงนี้ ถึงเพิ่งเข้าใจว่าแม่รู้สึกยังไง ท่านเคยบอกว่า เวลาเห็นคนใส่เสื้อผ้าของเราแล้วสวย เราจะภูมิใจ และมีความสุขจนลืมความเหนื่อยทุกอย่าง"

ด้านลูกสาวคนโต "คุณเบญ–บวรพร สุทธิวานิช" ถ่ายทอดความทรงจำว่า..."คุณแม่ไม่ชอบคนนอนตื่นสาย ถ้าเรียกเท่าไหร่ ไม่ตื่น แม่จะเอาน้ำพรมจนทุกคนต้องตื่น ต้องลุกขึ้นมาทำความสะอาดร่างกาย กินข้าวก่อน แล้วถ้าง่วงค่อยนอนใหม่ แต่กลายเป็นว่าไม่ได้นอนหรอกค่ะ แม่จะมีอะไรให้ทำตลอด เพราะเราต้องช่วยกันทำทุกอย่าง ความสำเร็จทุกวันนี้ของคุณแม่คงมาจากความขยัน ความเป็นคนเก่ง เอาใจใส่ทุกอย่าง ท่านเป็นคนละเอียดและเนี้ยบมาก คุณแม่ยังเป็นบรมครูเรื่องชุดผ้าไทยจริงๆท่านเป็นคนมีพรสวรรค์ และสายตาเฉียบคมมาก จะมองออกทันทีว่าใครสัดส่วนเท่าไหร่ โดยไม่ต้องใช้สายวัด และรู้จักวิธีทำเสื้อผ้าให้ผู้หญิงใส่แล้วสวยขึ้น อย่างการทำเสื้อนางงาม แม่จะถือคติว่าต้องใส่แล้วดูโก้สวย มีสง่า สุภาพ อ่อนหวาน เรียบร้อย และทั้งดีทั้งเด่น ไม่โป๊ คุณแม่เป็นคนหัวทันสมัย มักจะคิดค้นอะไรใหม่ๆเสมอ อย่างเช่นการทำเสื้อชั้นในโนบรา เพื่อใส่กับชุดราตรีผ่าร่องลึก แม่ก็คิดเองว่าต้องไปจ้างช่างรับเหมาตีเหล็กให้เป็นโครงรูปตัวยู แล้วทำเป็นเสื้อในโนบรา หรืออย่างการตัดชุดว่ายน้ำด้วยผ้าไหมไทย เป็นอะไรที่เย็บยากมาก แต่คุณแม่ก็ทำได้สวย เป็นพรสวรรค์ที่คิดว่าคนอื่นไม่มี"

หลังจากทำเสื้อให้นางสาวไทยสวม ใส่เพื่อเดินทางไปร่วมประกวดนางงามจักรวาลมาหลายยุคหลายสมัย รวมถึงยุคของนางงามจักรวาลคนแรกของไทย คือ "อาภัสรา หงสกุล" ซึ่งคว้ามงกุฎเมื่อปี 2508 ในที่สุด "อ.ลำยงค์" ก็สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติอีกครั้ง เมื่อ "ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก" สวมใส่ชุดไทยของระพี ฝีมือการตัดเย็บและออกแบบโดย "อ.ลำยงค์ บุณยรัตพันธุ์" ขึ้นคว้ารางวัลชุดแต่งกายประจำชาติสวยที่สุด และยังสวมชุดราตรีของร้านระพี ขึ้นใส่มงกุฎนางงามจักรวาลเป็นคนที่สองของเมืองไทย เมื่อปี 2531 กลายเป็นผลงานภูมิใจของระพีอีกครั้ง ที่ทำให้คนวัยเกษียณอย่าง "อ.ลำยงค์" มีกำลังใจขึ้นเท่าตัว

อีกหนึ่งความสำเร็จในชีวิตอันน่าจดจำของช่าง เสื้อธรรมดาๆคนนี้ ยังรวมถึง การได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทถวายการตัดเย็บฉลองพระองค์ไทยแด่สมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต และเป็นมิ่งมหามงคลยิ่งแก่โรงเรียนสอนตัดเสื้อระพีจวบจนถึงปัจจุบัน.



จาก.ไทยรัฐ ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น