เวลาจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเอง

อ่าน.......ขำๆ

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

"หมู่บ้านเต่าบ้านกอก" คนกับเต่าอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง



สามารถพบเต่าออกเดินอยู่ในหมู่บ้านเต่าบ้านกอกได้ไม่ยาก

"เต่า เต่า เต่า เต่ามันมีสี่ขา สี่ตีนเดินมา มันทำหัวผลุบ ๆ โผล่ ๆ"
หลายคนคงจะรู้จัก "เพลงเต่า" กันดีและร้องกันได้มาตั้งแต่เด็กๆ
และคงจะคุ้นหน้าคุ้นตากับเจ้าเต่าสัตว์ที่มีอายุยืนยาวนี้กันดี ซึ่งเราสามารถพบเห็นเต่าได้ตามสวนสัตว์
ตามท้องไร่ในนา หรือตามวัดวาที่มีคนจับเต่ามาขายให้เราได้ปล่อยเต่าทำบุญสะเดาะเคราะห์กัน
หรือจะมีบ้างก็บางคนที่นิยมเลี้ยงเต่าไว้ดูเล่นที่บ้าน



เต่าเพ็กที่หมู่บ้านเต่าบ้านกอก

แต่ถ้าใครเกิดอยากเห็นเต่าจำนวนเป็นร้อยๆ พันๆ ออกมาเดินเพ่นพ่านแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย
ระหว่างเต่ากับชาวบ้าน อยู่ตามหน้าบ้าน หลังบ้านคน ในสวนหย่อม หรือตามถนนหนทางทั่วไปในหมู่บ้าน
ก็ต้องไปที่ "หมู่บ้านเต่าบ้านกอก" ต.สวนหม่อน อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น
ซึ่งที่นี่ชาวบ้านอยู่ร่วมกับเต่ามานมนานร่วม 200 กว่าปี อยู่ร่วมกันแบบสมานฉันท์ แบบพี่น้อง
และเป็นครอบครัวเดียวกันอย่างสันติสงบสุข

ผู้ใหญ่ฉลาด เคนานันท์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 หมู่บ้านเต่าสวนหม่อน เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของหมู่บ้านเต่า
บ้านกอกว่า ในบริเวณศาลเจ้าคุณปู่ หรือศาลเจ้าปู่ฟ้าระงึม ตั้งอยู่ที่บ้านกอก อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น
ชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อว่า เจ้าคุณปู่ เป็นคนแก่ ร่างสูงใหญ่ นุ่งขาวห่มขาว มีเต่าเพ็กเป็นบริวาร
มีเรื่องเล่าถึงต่อกันมาว่าเต่าเพ็กบ้านกอกมีอายุยืนยาวสืบเชื้อสายต่อกันมา
พร้อม ๆกับการตั้งบ้านกอกเมื่อประมาณ พ.ศ.2310 เต่าเพ็กจะรวมตัวกันอยู่จำนวนมาก
ในบริเวณที่เรียกว่า ศาลเจ้าคุณปู่ (ดอนเต่า) มีพื้นที่ประมาณ 4 ไร่
มีกอไผ่อยู่ทั่วไปใบไผ่ร่วงหล่นลงทับถมกันเป็นชั้นเป็นที่อยู่อาศัยของเต่า ได้เป็นอย่างดี
ชาวบ้านเชื่อกันว่าเต่าในบริเวณดอนเต่านี้เป็นสัตว์เลี้ยงของเจ้าคุณปู่ฟ้า ระงึม
จึงเรียกเต่าพวกนี้ว่า เต่ามเหศักดิ์ อีกชื่อหนึ่ง



ศาลเจ้าปู่ฟ้าระงึม

"เต่ากับชาวบ้านมีมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย เต่าเข้ามาอยู่เอง ก็อยู่แบบฉันท์พี่น้องคือเต่ากับคนอยู่ร่วมกัน
แต่มีสิ่งที่เราต้องทำตามกฎตามกติกาของชาวบ้านที่เชื่อว่า เต่าเจ้าคุณปู่ เป็นเต่าที่มีอิทธิฤทธิ์
หรือเป็นสิ่งที่เราเคารพนับถือ ใครไปไหนมาไหนต้องกราบไหว้บอกกล่าว
ไปถึงแล้วกลับมาก็ต้องบอกยกมือไหว้เจ้าคุณปู่ว่าพวกผมมาแล้ว พวกผมไปเที่ยวนะ ไปหาเงินหาทองมาแล้ว
นี่คือสิ่งที่ถือปฏิบัติ มันเป็นมาตามประเพณีตั้งแต่มาตั้งบ้าน เพราะเต่าพวกนี้ไม่ใช่เต่าที่จับมาปล่อย
เต่าพวกนี้เป็นเต่าตามธรรมชาติ เท่าที่สังเกตหมู่บ้านอื่นเป็นที่ราบต่ำ แต่ที่หมู่บ้านนี้เป็นพื้นที่ราบสูง น้ำท่วมไม่ถึง
ผมก็คาดว่าเต่าก็คงจะหนีน้ำแล้วก็มาอยู่” ผู้ใหญ่ฉลาดบอก พร้อมกับอธิบายถึงลักษณะของเต่าเพ็กให้รู้ว่า



รูปปั้นเต่ายักษ์

"เต่าเพ็ก หรือเต่าเหลือง พวกนี้เป็นเต่าบกว่ายน้ำไม่เป็น เต่าเพ็กมีสัญชาติญาณในการหาอาหารดีมาก
สังเกตได้จาก เต่ามักจะจับกลุ่มออกกกันแน่นในบริเวณที่เป็นแหล่งให้อาหาร หรือภายในบริเวณ
บ้านของชาวบ้านที่จัดหาให้ในช่วงเย็นของแต่ละวัน
อาหารของเต่าอันเป็นที่ชื่นชอบคือ มะละกอสุก ขนุน สับปะรด แตงกวา ผักกาด
เต่าเพ็กไม่ชอบอากาศร้อน มักออกหาอาหารในช่วงเย็น"

สำหรับเต่าที่อยู่ในสวนเต่า คือเต่าที่ชาวบ้านจับมาให้นักท่องเที่ยวที่เที่ยวได้มาดู
เพราะว่าบ้านกอกเป็นแหล่งท่องเที่ยวหมู่บ้านเต่า แต่บังเอิญนักท่องเที่ยวที่มาก็มาไม่ตรงเวลาไม่ถูกเวลา
ถ้ามาตอนกลางวันก็จะไม่ได้ชมเต่า ถ้าจะมาดูต้องมานอนดู
เพราะเต่าจะออกเวลา 5 โมงเย็น ถึง 6โมงกว่าๆ ถึงหนึ่งทุ่ม เต่าจะออกมาเดินอยู่ทั่วไป



เต่าน้อยคลานต้วมเตี้ยม

"ชาวบ้านอยู่ร่วมกับเต่าและอนุรักษ์เต่าไปด้วย ชาวบ้านที่นี่ทุกหลังคาเรือนรักเต่า เคารพเต่า ทั้งรักทั้งเคารพ
ที่ชาวบ้านอยู่ร่วมกับเต่าได้ ก็เพราะว่าชาวบ้านเชื่อว่าเต่านี้เป็นเต่าศักดิ์สิทธิ์
ที่เป็นผู้ปกป้องดูแลรักษาลูกบ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ร่มเย็นเป็นสุข
การที่มีการจับเต่าก็มีบ้างแต่เป็นคนจากถิ่นอื่นที่เข้ามาในหมู่บ้าน
แต่คนในหมู่บ้านไม่มีใครกล้าทำร้ายเต่า เพราะถ้าทำร้ายไปก็จะมีเหตุไม่ควรจะเกิดก็เกิดให้เห็น
เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครกล้าทำ" ผู้ใหญ่บอกด้วยน้ำเสียงจริงจัง



เหล่ามัคคุเทศก์น้อยพาชมเต่า

เต่ากับชาวบ้านกอกนั้นอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข เสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ซึ่งทางหมู่บ้านเต่าบ้านกอกนั้น
มีประเพณีที่เกี่ยวกับเต่าที่ชาวบ้านยึดถือ ปฏิบัติร่วมกันคือ ทุกวันพุธจะมีคนมาเลี้ยงอาหาร
สิ่งที่มองไม่เห็นที่ชาวบ้านเชื่อ มาบอกกล่าวแก้บนเป็นประจำทุกวันพุธ
แล้วก็มีงานประเพณีหลักที่ถือว่าเป็นประเพณีใหญ่ที่ปฏิบัติสืบเนื่องต่อกัน มาคือทุกวันที่ 14 เมษายนของทุกปี
จะมีงานประเพณีไหว้เจ้าคุณปู่รดน้ำเต่า ทรงน้ำเจ้าคุณปู่ โดยแห่เจ้าคุณปู่รอบหมู่บ้าน
แล้วก็รดน้ำดำหัวคนแก่ไปด้วย ทุกปีทำทุกปีเป็นงานใหญ่ ประเพณีนี้ก็จะยังสืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน



เต่ากำลังกินอาหาร

สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านกอกกับเต่า
ก็สามารถมาท่องเที่ยวที่หมู่บ้านเต่าบ้านกอกกันได้ ซึ่งทางหมู่บ้านได้จัดให้มีสวนเต่า ทำเป็นสถานที่อยู่ของเต่า
เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาชมได้ตลอดเวลา และจะมีมัคคุเทศก์น้อยพานำชมเที่ยวรอบๆ หมู่บ้านเต่า
แต่ถ้าอยากเรียนรู้ความเป็นไปในการดำเนินชีวิตของชาวหมู่บ้านเต่า โดยอยู่ร่วมกันกับชาวบ้าน มากิน มานอน
ที่นี่ก็มีบ้านพักโฮมสเตย์หมู่บ้านเต่าให้ได้สัมผัสกัน
จะได้รับการต้อนรับด้วยอัธยาศัยและไมตรีจิตอย่างอบอุ่นของชาวหมู่บ้านกอก
และที่ขาดไม่ได้เลยคือ การทำกิจกรรมภายในหมู่บ้านแห่งนี้ เช่น การเข้าชมงานทางด้านอาชีพของกลุ่มต่างๆ
ที่ชาวบ้านพัฒนาฝีมืออยู่ตลอดเวลา อาจเป็นอาชีพเสริมและเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านซึ่งมีฝีมืออยู่มาก
เช่น กลุ่มอาชีพเครื่องจักรสานด้วยไม้ไผ่ กลุ่มอาชีพทางด้านการทักทอกระเป๋า กลุ่มอาชีพการทอผ้าไหม
กลุ่มอาชีพการทำกระติบข้าวเหนียวด้วยเชือกไนล่อนด้วยฝีมือและแรงงานชาวบ้าน
โดยไม่ได้อาศัยเครื่องจักรสมัยใหม่ แต่ยังคงอุรักษ์เครื่องมือแบบโบราณที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ปู่ ยา ตา ยาย
ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง



นักท่องเที่ยวสามารถชมเต่าได้ที่สวนเต่า

"เรื่องหมู่บ้านเต่าเป็นเรื่องจริง ถ้าอยากจะมาเที่ยวก็อยากจะให้มาเที่ยวมาเห็นด้วยตา
บางครั้ง บางคราวที่มาดูแล้วไม่เห็นเต่า กลับไปก็บอกว่าโกหก ไม่ได้โกหกก็อยากจะให้มาดูด้วยตากัน
และก็มีบ้านพักโฮมสเตย์ให้พักด้วย" ผู้ใหญ่ฉลาด ทิ้งท้ายแบบเชิญชวน

* * * * * * * * *

การเดินทางไปหมู่บ้านเต่าบ้านกอก
จากตัวเมืองขอนแก่นไปทาง อ.ชุมแพ ผ่านทางแยกเข้าสนามบินขอนแก่นไปตามถนนเลี่ยงเมืองขอนแก่น
ประมาณ 14 กม.เลี้ยวซ้ายแยกเข้าไปใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2062 ไป อ.มัญจาคีรีถึง หลักกม.ที่ 40
ด้านซ้ายมือจะถึงปากทางเข้าบ้านเต่าเลี้ยวไปตามถนนประมาณ 50 ม. ก็จะถึงสวนเต่า

สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจมาเที่ยวบ้านพักโฮมสเตย์หมู่บ้านเต่าบ้านกอก
สามารถติดต่อมาได้ที่ โทร. 0-4338-1275, 08-6237-0310

ที่มา : ผู้จัดการ


http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=anotherside&month=06-2009&date=23&group=24&gblog=73



<a href="http://www.youtube.com/v/YY-nT6q-hJ4&hl=en_US&fs=1&" target="_blank">http://www.youtube.com/v/YY-nT6q-hJ4&hl=en_US&fs=1&</a>

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น