เวลาจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเอง

อ่าน.......ขำๆ

วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พลิกปูม'วิกิลีกส์' เว็บจอมแฉสุดอันตราย

นาทีนี้ในแวดวงการเมือง-การทหารระหว่างประเทศ ไม่มีข่าวไหนจะร้อนแรงเท่ากับกรณีเว็บไซต์จอมแฉข้อมูลลับ "วิกิลีกส์" ตีแผ่เอกสารลับ หรือ "เอมบาสซี เคเบิล" ของสถานทูตสหรัฐอเมริกานับร้อยประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงพัวพันกับรัฐบาลทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเราด้วย ซึ่งถูกแฉว่าทูตสหรัฐใช้หลายมาตรการกดดันให้นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่งมอบตัว "วิกเตอร์ บูท" พ่อค้าอาวุธสงครามชาวรัสเซีย

"วิกิลีกส์" ขุดคุ้ยเอกสารลับมาเปิดเผยต่อสาธารณะได้อย่างไร หาคำตอบได้ตั้งแต่บรรทัดต่อไปนี้!

ย้อน กลับไปราวเดือนมิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Wired.com (ไวร์) สื่อไอทีชั้นนำของสหรัฐอเมริกา เคยตีพิมพ์รายงานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับวิกิลีกส์ เอาไว้ว่า

"ตัวการ" ที่นำเอาเอกสารลับจำนวนมาก ทั้งของกระทรวงกลาโหม (เพนตากอน) และกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ มามอบให้กับ นายจูเลียน แอสแซนจ์ หัวหอกเว็บวิกิลีกส์ ก็คือ

สิบตรีแบรดลีย์ แมนนิ่ง ชาวอเมริกัน วัย 22 ปี

พื้นเพเป็นชาวเมืองโปโตแม็ก รัฐแมรี่แลนด์

ถูก เกณฑ์ทหารและผ่านการทดสอบความสามารถและการรับรองประวัติใสสะอาด จนได้เข้าไปร่วมทีม "วิเคราะห์ข้อมูลข่าวกรองทหาร" ประจำฐานทัพแฮมเมอร์ของกองทัพบกสหรัฐนอกกรุงแบกแดด เมืองหลวงประเทศอิรัก

ล่าสุด เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางสหรัฐได้จับกุมตัวและคุมขังสิบตรีแมนนิ่งไว้เรียบร้อยแล้ว

จาก การสอบสวนพบว่า ปมต้นเหตุที่ทำให้สิบตรีแมนนิ่งก่อเหตุ "ล้วงตับ" เขย่าโลกครั้งนี้ เริ่มต้นขึ้นเพียงเพราะเจ้าตัวมีปัญหาขัดแย้งกับ "ผู้บังคับบัญชา" ส่งผลให้ต่อมาต้องตกอยู่ในสภาพเหมือน "สุนัขหัวเน่า" ไม่ค่อยมีเพื่อนทหารอยากคบหา

เป็นที่มาทำให้สิบตรีแมนนิ่ง ตัดสินใจจารกรรมข้อมูลลับทั้งหลายออกมามอบให้นายแอสแซนจ์และวิกิลีกส์

อย่าง ไรก็ตาม สาเหตุที่ช่วยให้ทางการสหรัฐรวบตัวสิบตรีรายนี้ได้ไม่ใช่เกิดจากสืบสวนเก่ง อะไร แต่เป็นเพราะนายเอเดรียน เลโม อดีตแฮกเกอร์หัวแถวของสหรัฐ แจ้งข้อมูลนำจับ!

นายเลโม ซึ่งทุกวันนี้ทำงานให้กับสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ เปิดเผยกับ "ไวร์" ว่า
ประมาณ เดือนกรกฎาคม 2553 มีโอกาส "แช็ต" และติดต่อพูดคุยออนไลน์กับสิบตรีแมนนิ่ง ซึ่งในแต่ละครั้งสังเกตว่าพฤติกรรมการ "คุยโม้" ว่าตัวเองกุมข้อมูลลับไว้จำนวนมหาศาล ดูจะยิ่งหนักข้อและเป็นอันตรายต่อ "ความมั่นคงสหรัฐ" มากขึ้นทุกขณะ

นั่นจึงเป็นที่มาที่นายเลโม ตัดสินใจล่อลวงวางแผนให้ทางการจับกุมตัวสิบตรีอันตรายรายนี้

"ฮิ ลลารี คลินตัน (รมต.ต่างประเทศสหรัฐ) กับ พวกนักการทูตนับพันคนทั่วโลก จะต้องหัวใจวายตายเมื่อตื่นมาตอนเช้าแล้วพบว่า ข้อมูลชั้นความลับด้านนโยบายต่างประเทศมีเผยแพร่ครบถ้วนอยู่ในอินเตอร์ เน็ต" นายเลโม ทบทวนสิ่งที่สิบตรีแมนนิ่ง เคยเล่าให้ฟังในอดีต




ขณะนั้น ไม่มีใครคิดว่าเรื่องราวที่ทหารยศต่ำๆ เช่นนี้จะกลายเป็น "จริง"

แต่ ปรากฏว่า เมื่อวิกิลีกส์ ทยอยปล่อย "หมัดเด็ด" แฉโพย กองทัพสหรัฐอย่างต่อเนื่องถึง 2 ครั้งในปีนี้ ทั้งกรณีฆ่าชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ในอิรักและอัฟกานิสถาน

โดยเฉพาะการ แพร่ "คลิป" เฮลิคอปเตอร์อาปาเช่ของสหรัฐ ยิงระเบิดผิดพลาดใส่ชุมชนในกรุงแบกแดด กระทั่งมีพลเรือนเสียชีวิตหลายศพ เมื่อปี 2550

ก็ทำให้นายเลโมมั่นใจว่า สิบตรีแมนนิ่งคือผู้อยู่เบื้องหลังการแพร่ข้อมูลลับดังกล่าวแน่นอน

นาย เลโม ระบุด้วยว่า สิบตรีแมนนิ่งมีทัศนคติต่อต้านสงคราม และมองว่าการที่ทหารสหรัฐปฏิบัติภารกิจผิดพลาดจนเป็นเหตุให้มีชาวบ้านตาดำๆ ต้องตายนั้นเป็นเรื่องไร้ศีลธรรมไม่ถูกต้อง จึงต้องแฉให้หมดเปลือก

สำหรับวิธีการฉกเอาเอกสารลับต่างๆ ออกจากฐานนั้นก็พบว่าไม่ได้ซับซ้อนเหมือนในหนังฮอลลีวู้ดแต่อย่างไร



เพราะ แมนนิ่งเล่นใช้วิธีตรงๆ ทื่อๆ ง่ายๆ โดยนำ "แฟลช ไดรฟ์" หรือ "ธัมป์ไดรฟ์" อันจิ๋วธรรมดาๆ นี่แหละ รวมถึงแผ่นดิสก์ทั่วๆ ไป ค่อยๆ ก๊อบปี้ข้อมูลออกมาเรื่อยๆ

"ถ้าคุณมีโอกาสเข้าถึงเครือข่าย คอมพิวเตอร์ ซึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลลับ 14 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ และ 1 สัปดาห์ ในรอบ 8 เดือน คุณจะทำอย่างไร?" แมนนิ่ง ถามเลโมก่อนถูกจับ

ส่วน "จุดเริ่มต้น" ติดต่อสื่อสารกับวิกิลีกส์นั้น สิบตรีแมนนิ่งบอกว่า เริ่มติดต่อไปหานายแอสแซนจ์ราวปลายเดือนพฤศจิกายน 2552

ภาย หลังจากแมนนิ่งรู้สึกประทับใจในการที่เครือข่ายวิกิลีกส์ ไปเจาะเอาข้อความ "เอสเอ็มเอส-เพจเจอร์" ที่ชาวอเมริกันส่งถึงกันด้วยความตื่นตระหนกหลังเกิดเหตุวินาศ กรรมช็อกโลก สมาชิกอัล ไคด้าจี้เครื่องบินถล่มตึกแฝดเวิลด์เทรด กับ เพนตากอน

"พอ ผมเห็นข้อมูลชิ้นนี้ของวิกิลีกส์ ผมจำได้ทันทีเลยว่าหลุดมาจากฐานข้อ มูลสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) อย่างแน่นอน ก็เลยรู้สึกเบาใจว่าตนก็น่าจะทำได้เช่นกัน" แมนนิ่ง เขียนถึงเลโม

นายไทเลอร์ วัตกินส์ วัย 20 ปี เพื่อน สนิทสิบตรีแมนนิ่ง ให้สัมภาษณ์ "ไวร์" ด้วยว่า

แมน นิ่งส่งคลิปวิดีโอทหารสหรัฐปฏิบัติงานผิดพลาด จนทำให้พลเรือนอิรักเสียชีวิตต่างกรรมต่างวาระกัน ไปให้วิกิลีกส์ครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553

หลังจากนั้น แมนนิ่งจะส่งข้อความคอยสอบถามติดๆ กัน ว่า

"สื่อ อเมริกันเล่นข่าวนี้ใหญ่ไหม และการแฉโพยกองทัพสหรัฐสังหารผู้บริสุทธิ์ ทั้งในสมรภูมิอิรักและอัฟกานิสถาน จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้งอกงามในสังคมอเมริกันได้อย่างไร




ผล สอบโดยเอฟบีไอ ชี้อีกว่า สิบตรีแมนนิ่งได้รับการอนุมัติให้เข้าถึงข้อมูล "ลับสุดยอด" ในเครือข่าย "SIPRNET" ซึ่งส่งถึงกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ และเพนตากอน

ด้าน นายทิม โอพรีย์ ผู้บริหารกลุ่มบรรษัทการเงินเฮนส์เลอร์ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป รัฐจอร์เจีย สหรัฐ แสดงความเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญไอทีประจำบริษัท กล่าวว่า

การออกแบบระบบรักษาความปลอดภัย-ดูแลชั้นความลับของสหรัฐ "แย่" เกินคาด

หวัง ว่าบทเรียนกรณีวิกิลีกส์ระลอกล่าสุด จะเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้รัฐบาล-ส่วนราชการทั่วโลกจำเอาไว้ให้ดี เพื่อวาง แผนแก้ไขระบบรักษาความปลอดภัยคอมพิว เตอร์ให้ซับซ้อน แต่ "เป็นระบบ" มากขึ้น

เพราะบุคคลที่จะมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลลับได้นั้น ย่อมต้องไม่ใช่ชาวบ้านร้านตลาด

สมควรหรือไม่ ที่กองทัพสหรัฐปล่อยให้ทหารยศต่ำเข้าถึงข้อมูลได้ทุกระดับ

"เป็นธรรมดาที่ลูกจ้าง ซึ่งไม่พอใจเจ้านายก็อยากโพสต์ข้อมูลในอินเตอร์เน็ต เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสื่อ" โอพรีย์ กล่าว

นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญระบบไอทีจากบริษัทครีเดนต์ เทคโนโลยี ยังพยากรณ์เสริมด้วย



ใน อนาคตอันใกล้อุปกรณ์ประเภท "ธัมป์ไดรฟ์-มือถือสมาร์ทโฟน" จะยิ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โอกาสที่การนำอุปกรณ์เล็กจิ๋วนี้ไป "ดูด" ข้อมูลจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ราชการ จึงสะดวกง่ายดาย

ขณะเดียวกัน ฝ่ายตามจับก็จะทำงานจับพิรุธยากขึ้น

ปัจจุบัน ฝ่ายญาติๆ และเพื่อนฝูง ของสิบตรีแมนนิ่ง เคลื่อนไหวปลุกระดมให้รัฐบาลชุดบารัก โอบามา รีบปล่อยตัวแมนนิ่ง เพราะมั่นใจว่าสิ่งที่ทำลงไป ทำเพื่อหยุดยั้ง-แฉความเลวร้ายของทัพสหรัฐ

ด้านนักการเมือง "ฝ่ายขวา" หรือ อนุรักษนิยมจ๋า ประกาศพลิกแผ่นดินตามล่าตัว นายจูเลียน แอสแซนจ์ ถึงขั้นขู่ฆ่ากันโต้งๆ ผ่านสื่อ

โดยหารู้ไม่ว่านายแอสแซนจ์ จะอยู่หรือตายก็ไม่สำคัญอีกต่อไป

เนื่อง จาก "เมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่อถือ" ต่อการทำหน้าที่ตีแผ่ข้อมูลลับชนิดไม่กลัวตายของ "แหล่งข่าววิกิลีกส์" ได้หยั่งรากลึกลงไปในใจผู้คนเรียบร้อยแล้ว!



ย้อนข้อมูลสุดฉาว 'วิกิลีกส์'

นับ ตั้งแต่เปิด 'วิกิลีกส์' เปิดดำเนินการเมื่อเดือนธันวาคม 2549 จนถึงปัจจุบัน ข้อมูลที่แฉโพยอยู่ในเว็บชื่อก้องโลกแห่งนี้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับ รัฐบาล นักการเมืองแถวหน้า กองทัพ รวมถึงส่วนราชการในประเทศต่างๆ และภาคเอกชนทั่วโลกมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งพอยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ชัดเจน ดังนี้

1. ธันวาคม พ.ศ.2550

แฉเนื้อหาในคู่มือปฏิบัติภารกิจ ของทหารสหรัฐในค่ายเดลต้า ซึ่งเขียนวิธีปฏิบัติต่อนักโทษผู้ต้องสงสัยคดีก่อการร้ายในคุกอ่าวกวนตานาโม ว่า ทหารสหรัฐขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่กาชาดสากลเข้าเยี่ยมนักโทษ และจะให้กระดาษชำระเป็นรางวัลแก่นักโทษประพฤติตัวดี

2. กันยายน พ.ศ.2551

เปิด โปงอีเมล์ของนางซาราห์ เพ-ลิน อดีตผู้สมัครชิงเก้าอี้รองประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงนั้น ว่า เคยจงใจใช้ 'บัญชีธนาคารส่วนตัว' ทำธุรกรรมในฐานะผู้ว่าการรัฐอลาสกา เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายตรวจสอบการใช้จ่ายของผู้ว่าการรัฐ

3. พฤศจิกายน พ.ศ.2551

เผย แพร่รายชื่อ ที่อยู่ และอาชีพดั้งเดิมของสมาชิกพรรคการเมืองขวาจัด (อนุรักษนิยมสุดขั้ว) 13,000 คนในอังกฤษ ซึ่งพบว่า สมาชิกบางส่วนเป็นอดีตตำรวจ-ทหารระดับสูง แพทย์ และสาขาอาชีพอื่นๆ อีกมาก

4. พฤศจิกายน พ.ศ.2552

เผย แพร่รายงานนับพันฉบับของเจ้าหน้าที่ห้องวิจัยสภาพบรรยากาศ มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์ชั้นนำบางกลุ่มของโลก บิดเบือนข้อมูลเพื่อทำให้สังคมโลกเชื่อว่า ภัยโลกร้อนเกิดจากน้ำมือและกิจกรรมของมนุษย์โดยแท้

5. พฤศจิกายน พ.ศ.2552

เปิด เนื้อหาการส่งข้อความต่างๆ ในระบบสื่อสารไร้สายในนครนิวยอร์ก สหรัฐ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยาฯ 2544 หรือวันที่กลุ่มก่อการร้ายอัล ไคด้า จี้เครื่องบินพุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรด ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า วิกิลีกส์กำลังละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างร้ายแรง

6. เมษายน พ.ศ.2553

แฉ คลิปวิดีโอเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์อาปาเช่ของกองทัพสหรัฐ ยิงถล่มเป้าหมายในอิรัก ทำให้ชาวบ้านอิรักตายฟรี 13 ศพ และนักข่าวรอยเตอร์ตายอีก 2 ศพ สาเหตุเพราะทหารบนฮ. ส่องกล้องมองแล้วเข้าใจผิด นึกว่าอุปกรณ์-กล้องของนักข่าวดังกล่าวเป็นอาวุธ

7. กรกฎาคม

พ.ศ.2553

เผย แพร่ 'อัฟกานิสถาน วอร์ ล็อก' หรือบันทึกลับของกองทัพสหรัฐเกี่ยวกับการทำสงครามในอัฟกานิสถาน และการที่สหรัฐจัดตั้งหน่วยล่าสังหารในอัฟกาฯ

8. ตุลาคม

พ.ศ.2553

แฉ ข้อมูล 'อิรัก วอร์ ล็อก' หรือบันทึกลับรายงานการทำภารกิจ-ทำสงครามของกองทัพสหรัฐในอิรัก กว่า 400,000 ชุด พบข้อมูลเช่น มีพลเรือนอิรัก 66,000 คนต้องตายเพราะฝีมือทหารสหรัฐระหว่างปี 2547-2552 และกรณีทหารพันธมิตรทารุณชาวอิรัก

9. พฤศจิกายน-ธันวาคม พ.ศ.2553

เผย แพร่ 'เอมบาสซี เคเบิล' หรือบันทึกลับที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐทั่วโลกทำรายงานส่งถึงกระทรวงต่าง ประเทศ และรัฐบาลกลางสหรัฐในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อีก 2 แสนกว่าชุด


Source :http://www.khaosod.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น