เวลาจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเอง

อ่าน.......ขำๆ

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

ชีวิตรันทด ของสุนัขตัวนึง เศร้ามากก



        “...ไม่รู้จะเลี้ยงไปทำไม.... เอาแต่สร้างความยุ่งยาก... เห่าก็ไม่เป็น... ตาก็บอด...”

        และอีกสารพัดเสียงบ่นด้วยความรำคาญใจจากปากของหญิงสูงวัยนางหนึ่ง หลังจากที่นำไม้เรียววิ่งไล่หวดสุนัขตัวหนึ่งอย่างเอาเป็นเอาตาย ซึ่งมักจะบ่นกระปอดกระแปด ด้วยน้ำเสียงกระโชกโฮกฮากทุกคราที่เอ่ยถึงสุนัขตัวเดียวกัน ที่มีชื่อว่า “เจ้าตาล”

        “โครม!!!...”

        ขณะที่เจ้าตาลเองก็วิ่งหนีหัวซุกหัวซุน ตามแต่สัญชาตญาณอันน้อยนิดของมันจะพาไป ด้วยความที่ตามันบอดเกือบสนิท มันวิ่งชนทุกอย่างที่ขวางหน้าไปตลอดทาง



        เจ้าตาลเป็นสุนัขจรจัดที่พลัดหลงเข้ามาอยู่ในบริเวณบ้านของหญิงผู้นั้น โดยมีต้อม (นามสมมติ) น้องชายคนเดียวของหญิงสูงวัยเป็นผู้อุปการะด้วยความสงสาร นอกจากมันพิการ ดวงตาฟ้าฟาง และมีอาการใบ้รับประทานเป็นของกำนัล ราวกับพระเจ้าทรงกลั่นแกล้ง ประทานสิ่งที่ไม่เป็นมงคลให้เสียอย่างนั้น

        บางครั้ง... เจ้าตาลมักมีอาการแปลกๆ ซึ่งน้อยนักจะปรากฏกับสุนัขตัวใดบนผืนโลกใบนี้ แบบนอนอยู่ดีๆ ก็ชักกระตุกขึ้นมาอย่างไม่มีเครื่องดนตรีไทยประเภทเป่า ดิ้นทุรนทุราย กัดลิ้นตัวเอง จนฟันหน้าหักไปหลายซี่อย่างทรมานยิ่งนัก ซึ่งเป็นภาระให้กับคนในบ้านต้องคอยมาตามล้างตามเช็ดคราบเลือด คราบน้ำลาย และปัสสาวะอย่างเสียมิได้





        นอกจากต้อมแล้ว... คนอื่นๆ ภายในบ้านต่างไม่เป็นปลื้มเอาเสียเลย ที่มีเจ้าตาลอยู่ร่วมชายคาเดียวกันเท่าใดนัก พวกเขามองว่า เลี้ยงมันไว้ก็มิเกิดประโยชน์โภคผลอันใด รังแต่จะเป็นภาระเสียเปล่าๆปลี้ๆ เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้น พวกเขาจึงร่วมกันคว่ำขัน คว่ำชาม กะละมัง หม้อ (คว่ำบาตรโดยที่พระไม่อนุญาต... มันจะบาปเอาน่ะ...) ไม่ให้อาหารมันอีกต่อไป ปล่อยให้อดอยากดำรงอยู่กันไปตามยถากรรม ซึ่งเป็นการบีบบังคับทางอ้อมให้เจ้าตาลออกไปเสียให้พ้นๆ จากบ้าน

        ขณะที่ต้อมเองก็ช่วยเหลือเจ้าตาลไม่ไดมากนัก หลายคราต้องออกไปทำงานยังต่างจังหวัดอยู่เป็นอาทิตย์ เมื่อถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ เขาจึงกลับมาที่บ้าน เจ้าตาลถึงได้กินอาหารตามปกติ

        จนถึงบัดเดี๋ยวนี้ เจ้าตาลก็มาอาศัยอยู่ภายใต้ชายคาบ้านหลังนี้เกือบครบหนึ่งปีเต็มที





        อันที่จริง... ต้อมก็เคยนำสัตวแพทย์มาหาสาเหตุ และรักษาอาการประหลาด แต่ถึงกระนั้นอาการทั้งหลายทั้งปวงก็ยังคงติดตัวมันเหมือนเดิม และไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาเบาบางลงสักนิด ฉันสันนิษฐานเอาว่า... อาจจะเป็นเพราะเจ้าตาลไม่มีกะโหลกตรงบริเวณกลางกระหม่อมห่อหุ้มเนื้อสมอง ซึ่งมีเพียงหนังห่อหุ้มอยู่เท่านั้น เมื่อฉันลองเอามือไปแตะดูตรงบริเวณหัว จะนุ่มนิ่มผิดสังเกตอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งตรงส่วนนี้อาจจะมีผลต่อการขาดอ๊อกซิเจนไปเลี้ยงสมองอย่างต่อเนื่องก็ เป็นได้

        ฉันสนิทกับต้อมมากกว่าคนอื่นๆ ในบ้านหลังนั้น แม้จะมีอายุห่างกันพอสมควร บางครั้ง... เมื่อฉันแวะมาก็มักจะนำข้าวคลุกชิ้นไก่หรือหมูติดมือมาให้เจ้าตาลด้วย ส่วนต้อมก็มาปรับทุกข์เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยความท้อใจ ฉันจึงเอ่ยแนะนำว่า...

        “...ในเมื่อไอ้ตาลมันชอบชัก และมีเลือดไหล เราก็ควรจะแก้ปัญหาสิ... เอาข้าวให้มันกินห่างจากตัวบ้าน มันก็จะอยู่แต่บริเวณที่มันกิน... และพอต้อมจะกินข้าว ก็ตักให้เยอะๆ แล้วเอาไปแบ่งให้ไอ้ตาลมัน...”

        ฉันก็เอ่ยสำทับต่ออีกว่า...

        “...ถ้าเราเลี้ยงหมาพิการ แล้วเราลำบาก กับบางคนในบ้าน อาจจะเจ็บป่วยหนักก็ได้ ทำไมเราไม่คิดว่าเราอาจจะมีเคราะห์ แต่ถ้าเราทำบุญโดยเลี้ยงมันไว้ เคราะห์หนักอาจจะกลายเป็นเบาก็ได้...”

        เมื่อต้อมได้ฟังดังนั้น ก็นิ่งเงียบไปพักใหญ่ ก่อนที่จะเอ่ยขึ้นมาว่า...

        “...เมื่อวันก่อนยืนอยู่หน้าร้านที่ทำงาน มีประตูเหล็กม้วนบานใหญ่ ม้วนขึ้นไปบนนั้น มันชอบไหลลงมา ฉันก็เลยเอาไม้ค้ำยันมันไม่ให้ไหลลงมา... ตอนนั้นจู่ๆ ไม้ค้ำก็หลุดออก ประตูก็ไหลลงมาจะโดนหัว แต่มันไปกระแทกไหล่เป็นรอยช้ำไปหมด...” เขาพูดพลางถลกเสื้อเปิดไหล่ให้ฉันดู พร้อมกับพูดสำทับอีกคำรบ

        “...ถ้าประตูหล่นใส่หัว ป่านนี้คงนอนโรงบาลไปแล้ว...”

        ฉันได้ทีจึงเสริมว่า...

        “ต้อมฟังนะ... ลองคิดดูสิว่าทำไมไอ้ตาลมันถึงต้องมาอยู่ที่บ้านแก ทั้งๆที่ตาบอด และบ้านแกก็อยู่ติดถนน ทำไมถึงไม่เดินไปตามถนน แถมบ้านแกก็ยังห่างจากบ้านคนอื่นๆอีกหลายเมตรและถมดินสูงๆ ทำไมมันถึงขึ้นมาได้ล่ะ คิดว่ามันแปลกมั้ย??”

       “.....................”





        จากชีวิตอันแสนรันทดของเจ้าตาล ทำให้หวนนึกถึงสุนัขของฉัน ซึ่งเพิ่งบอกลาโลกนี้ เดินทางไปสู่โลกหน้าเมื่อไม่นานมานี้

        เจ้าหรั่ง เป็นสุนัขเลือดผสมจากเจ้าเตี้ยแม่พันธุ์วัยดึก ซึ่งในครั้งนั้นเจ้าเตี้ยตกลูกครอกนั้นถึงหกตัวตามมาตรฐานสากล แต่แล้ว กาลเวลาและมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ ก็พรากพี่น้องร่วมครอกเดียวกันออกไปทีละตัว สองตัว รวมถึงแม่ผู้ให้กำเนิดและน้ำนม อันมีส่วนทำให้มันเติบใหญ่ เป็นสุนัขเฝ้าบ้านชั้นดีทีเดียว

เย็นวันหนึ่ง.....

        ฉันกลับมาจากต่างจังหวัด สายตาแลเห็นเจ้าหรั่งนอนซมอยู่ที่บริเวณหน้าบ้านของฉันอีกหลังหนึ่งที่อำเภอ โนนสูง ดวงตาของมันทอแววเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากฉัน แต่ช่วงนั้นก็เย็นย่ำมาก และฉันก็รู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางยิ่งนัก

        “ไว้ให้พ้นคืนนี้ แล้วค่อยพามันไปหาหมอวันพรุ่งนี้ดีกว่า...”

        เมื่อคิดได้ดังนั้น ฉันก็เดินเข้าไปพักผ่อนภายในบ้าน ปล่อยให้เจ้าหรั่งนอนรอต่อไป





เช้าวันรุ่งขึ้น...

        เจ้าหรั่งมีสภาพอ่อนระโหยโรยแรงมากกว่าที่เห็นเมื่อวาน และทำท่าว่าอาจจะ “ไม่รอด” เป็นแน่แท้ ฉันจึงนำร่างอันผอมซูบของมันขึ้นไปไว้บนหลังรถปิ๊กอัพ แล้วขับพาไปหาสัตวแพทย์ในตัวอำเภอ

        “ทำไมพาหมาตัวนี้มาเองล่ะ??”

        “เป็นแค่หมาไทยธรรมดาๆ ทำไมต้องพาไปหาหมอด้วย??”

        “ทำไมไม่เลี้ยงหมาฝรั่ง??”

        หลากคำถาม ระคนกับความสงสัยใคร่รู้ของผู้คนในอำเภอ ในโทษฐานที่รู้จักกัน ฉันได้คลายข้อสงสัยของคนเหล่านั้น ด้วยคำตอบสุดท้ายว่า...

        “ไอ้หรั่งมันก็อยู่กับฉันมาตั้งนานแล้ว ฉันสงสารมัน ไม่อยากให้มันตาย...”

        ที่สุดแล้ว หมอก็หล่นความเห็นว่า... เจ้าหรั่งเป็นโรคหัดสุนัข จากนั้นฉีดยาให้หนึ่งเข็ม และจ่ายยาให้กิน อาการป่วยก็ค่อยทุเลาในเวลาไม่นานนัก เจ้าหรั่งจึงสามารถดำรงชีพแบบสุนัขตามปกติ



        ช่วงเวลาไม่ห่างกันนัก เคราะห์ซ้ำกรรมซัดกระหน่ำเข้าที่ตัวเจ้าหรั่งเต็มๆ รถปิ๊กอัพคันหนึ่งชนเข้าให้จนขาหลังหัก มันก็ได้แต่นอนซมอีกคำรบ ฉันจึงนำร่างอันไร้เรี่ยวแรงของมันไปให้สัตวแพทย์รักษาอีกตามเคย แล้วนำกลับมาดูแลต่อจนอาการและขาที่หักหายเป็นปกติอีกครั้ง

สี่ปีต่อมา...

        เจ้าหรั่งก็ล้มป่วยลงอีกครั้ง ร่างกายที่เคยกำยำ เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ จนบัดเดี๋ยวนี้เหลือเพียงหนังหุ้มกระดูก แรงลุกขึ้นยืนแทบจะไม่มี แต่ด้วยความซื่อสัตย์ที่มีต่อเจ้าของ มันพยายามฝืนร่างกายตัวเองวิ่งออกไปรับเมื่อยามฉันขับรถกลับมาที่บ้าน แน่นอน... ฉันพาสัตวแพทย์มารักษามันที่บ้าน และให้น้ำเกลือ ซึ่งช่วยได้แค่เพียงต่อลมหายใจที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดเท่านั้น

        และแล้ว... วาระสุดท้ายของชีวิตสุนัขอันแสนธรรมดาตัวหนึ่งก็เดินทางมาถึง แววตาของเจ้าหรั่งมองฉันทอแววอาลัยอาวรณ์ต่อโลกใบนี้และเจ้านายของมัน และจากไปอย่างสงบ



        ฉันรู้สึกใจหายวูบ แต่ไม่เสียใจมากนัก และพยายามฉุดยื้อชีวิตของมันจากเงื้อมมือมัจจุราชอย่างถึงที่สุด ถึงแม้จะมีความผูกพันที่ฉันเลี้ยงเจ้าหรั่งตั้งแต่ตัวมันยังเล็กๆ จนล่วงเข้าสู่ปีที่แปด ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแห่งชีวิตของมันนั่นเอง

        สำหรับชีวิตของเจ้าตาลแล้ว ถึงแม้คุณค่าในแง่อรรถประโยชน์จะเทียบกันไม่ได้กับเจ้าหรั่งก็ตาม

        แต่ก็มีบางสิ่งที่หลายคนจะมองข้ามไป ซึ่งส่วนใหญ่มักนำสิ่งที่เห็นเป็นเชิงรูปธรรมมากำหนดเป็นมาตรฐานสำคัญในการตัดสิน

        นั่นก็คือสิ่งนามธรรมที่เรียกว่า “ความรัก” และ “ความซื่อสัตย์” ที่เจ้าตาลมีไม่ด้อยกว่าสุนัขตัวใดบนโลกใบนี้อย่างแน่นอน



http://board.postjung.com/539210.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น