A Universal History of the Destruction of Books (ค.ศ.๒๐๐๘) Fernando Baez เขียน Alfred MacAdam แปลจากภาษาสเปน ๓๕๖ หน้า ราคา ๕๑๔ บาท แผ่นดินเหนียวสุเมเรียน ๒,๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาลประกาศขายทาสชาย และตึกในเมือง Shuruppak ภาพ : Marie-Lan Nguyen ที่มา : Wikimedia Commons ประวัติศาสตร์การทำลายหนังสือเริ่มต้นตั้งแต่มนุษย์ค้นพบหนังสือเก่าแก่ที่สุดในโลกที่เมืองซูเมอร์ ในดินแดนเมโสโปเตเมียหรืออิรักปัจจุบัน นักโบราณคดีพบแผ่นดินเหนียวอายุ ๔,๑๐๐-๓,๓๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ในสภาพดีบ้าง แตกบ้าง ถูกเผาบ้าง หนังสือโบราณย่อมเป็นหนังสือมือทำทุกเล่ม ผู้คัดลอกหนังสือเป็นปราชญ์ในราชสำนักที่ต้องฝึกฝีมือนานปี ภาษาสุเมเรียนใช้อักษรภาพที่ซับซ้อนประมาณ ๒,๐๐๐ ตัว เขียนจากมุมขวาบน และมักเขียนจากบนลงล่าง หัองสมุดยุคแรกกำเนิดขึ้นช่วง ๓,๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาล โดยเก็บทะเบียนการค้าขาย รายการพืช สัตว์ และแร่ ต่อมาพบบทกวีและบทคาถาอาคมในห้องสมุด รวมทั้งพจนานุกรมภาษาสุเมเรียน-เอบลา มีบันทึกประวัติศาสตร์แบ่งเป็นเล่ม ๑ และ ๒ เริ่มมีการเขียนชื่อผู้เขียนที่ด้านบนของแผ่นดินเหนียว มีการจัดทำรายการหนังสือของห้องสมุดในช่วง ๒,๐๐๐-๑,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยบันทึกชื่อเรื่องและบรรทัดแรก ในปี ค.ศ. ๑๒๕๘ หลานของเจงกิสข่านบุกกรุงแบกแดดและทิ้งหนังสือทั้งหมดลงแม่น้ำไทกริส ในปี ๒๐๐๓ เมื่ออเมริกาโจมตีอิรัก ประชาชนบุกรุกพิพิธภัณฑ์ หอสมุดแห่งชาติและหอสมุดต่าง ๆ เพื่อขโมยหนังสือ อิรักสูญหนังสือถึง ๑ ใน ๔ โดยเฉพาะหนังสือเก่าแก่มีค่าซึ่งถูกนำไปขายในตลาดมืด อนิจจา นี่หรือสถานที่ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดหนังสือ “เขาเผาหนังสือที่ไหน เขาจะลงเอยด้วยการเผาคน” ไฮน์ริช ไฮเนอ (Heinrich Heine) ห้องสมุดโบราณมักสร้างโดยกษัตริย์ให้อยู่ในวัดหรือวัง หนังสือถูกยกย่องให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีอำนาจควรเคารพบูชา ห้องสมุดแรกที่มีหนังสือทั้งหมดทำด้วยปาปิรัส คือห้องสมุดของกษัตริย์รามเสสที่ ๒ ในอียิปต์ที่สร้างขึ้นราว ๑,๓๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช เก็บม้วนหนังสือเกี่ยวกับยา ห้องสมุดโบราณเหล่านี้ล้วนแต่ถูกทำลายจากสงครามและเพลิงไหม้ ชาวกรีกโบราณนิยมอ่านออกเสียง มือขวาถือม้วนกระดาษปาปิรัสและมือซ้ายคลี่กระดาษ มีหนังสือวางขายในตลาดตั้งแต่ศตวรรษที่ ๕ ก่อนคริสต์ศักราช นักคัดลอกหนังสือกรีกมักเป็นทาสและเป็นแรงงานราคาถูกซึ่งมิได้คัดลอกหนังสือตรงตามต้นฉบับเสมอไป ถ้าหนังสือใครถูกนำมาอ่านในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะโดยผู้เขียนหรือคนอื่นก็ตาม ถือว่าหนังสือนั้นตีพิมพ์แล้ว หลังอ่านหนังสือจบจะเปิดโอกาสให้ผู้ฟังตั้งคำถาม ห้องสมุดอะเล็กซานเดรียอันโด่งดังของโลกกำเนิดขึ้นเมื่อ ๓๐๖ ปีก่อนคริสต์ศักราช ตามคำแนะนำของ ดีมีทริอุส ฟัลรีอุส ให้กษัตริย์ปโตเลมีแห่งอียิปต์สะสมและอ่านหนังสือเรื่องกษัตริย์ เพราะมิตรจะไม่กล่าวถึงสิ่งที่มีในหนังสือต่อหน้าพระองค์ อีกทั้งการรวบรวมหนังสือดีจะทำให้เมืองนี้เป็นศูนย์รวมปัญญาชน ห้องสมุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวัง กษัตริย์ปโตเลมีทุ่มเงินมหาศาลเพื่อหาหนังสือ “ทุกเล่มในโลก” อย่างน้อย ๕ แสนม้วนเข้าห้องสมุด มีวิธีเจ้าเล่ห์แสนกลในการแสวงหาหนังสือ เช่น ยืมหนังสือจากเมืองอื่นแล้วไม่คืนต้นฉบับ คืนแต่ฉบับคัดลอก หรือออกกฎให้ทุกคนที่เข้าห้องสมุดอะเล็กซานเดรียต้องสำแดงหนังสือเพื่อนำไปคัดลอก ซึ่งเจ้าของจะได้ฉบับคัดลอกคืน กษัตริย์เพียงองค์เดียวเท่านั้นที่มีอำนาจแต่งตั้งผู้อำนวยการห้องสมุดอะเล็กซานเดรีย ซึ่งต้องเป็นพระ ตำแหน่งนี้ใคร ๆ ก็อยากเป็นเพราะได้อยู่สุขสบายในวัง ไม่ต้องเสียภาษี ได้เงินเดือนมากพอจนไม่ต้องกลัวว่าจะรับสินบนใคร ปาปิรัสโบราณในอียิปต์ ที่มา : http://relfactoid.files.wordpress.com/2008/07/papyrus.jpg ห้องสมุดอะเล็กซานเดรียถูกโจมตีเรื่อยมา นับแต่ จูเลียส ซีซาร์ ทำลายฝูงเรืออียิปต์ จนป่านนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าใครเผาห้องสมุดจนวอดวาย จะเป็นชาวโรมัน ชาวคริสต์ หรืออาหรับกันแน่ รู้แต่ว่าสุดท้ายแล้ว หนังสือของนักเขียนดัง ๆ อย่างเพลโต เฮสิออด แซปโฟ ถูกใช้เป็นเชื้อไฟของโรงอาบน้ำสาธารณะนานถึง ๖ เดือน ทุกวันนี้เราได้เห็นเพียงเศษเสี้ยวผลงานของอริสโตเติล เพราะข้อเขียน จดหมาย และบทกวีไม่หลงเหลือแล้ว อริสโตเติลเป็นนักสะสมหนังสือคนแรก ๆ เป็นผู้สอนวิธีจัดห้องสมุดแก่กษัตริย์อียิปต์ เขามีหนังสือในห้องสมุดไลเซียมซึ่งเปิดเป็นโรงเรียนในช่วง ๓๓๕ ปีก่อนคริสต์ศักราช น่าเสียดายที่ผู้ดูแลรุ่นสุดท้ายประมูลหนังสือไปขายเพราะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ขณะที่ห้องสมุดอะเล็กซานเดรียรวบรวมหนังสือ จิ๋นซีฮ่องเต้สั่งเผาหนังสือทุกเล่มยกเว้นด้านกสิกรรม การแพทย์ และการพยากรณ์ ตามคำแนะนำของเสนาบดีหลี่ซือ หนังสือจีนยุคนั้นทำจากแถบไม้ไผ่ เขียนแนวตั้งเรียงจากขวาไปซ้าย แล้วมัดติดกันด้วยเชือกให้ม้วนได้ หนังสือจีนในช่วง ๑๓๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชทำจากไหม ต่อมาในปี ค.ศ. ๒๐๕ จึงมีผู้คิดวัสดุราคาถูกกว่าใช้แทนเป็นสิ่งคล้ายกระดาษที่ใช้กันทุกวันนี้ หนังสือในจีนเสียหายหนักอีกครั้งช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ จากการโจมตีของญี่ปุ่น ประเทศจีนออกกฎหมายในปี ค.ศ. ๑๙๐๙ ให้หัวเมืองใหญ่ทุกเมืองมีห้องสมุด จีนจึงมีห้องสมุดถึง ๔,๐๔๑ แห่งในปี ๑๙๓๗ โดยห้องสมุด ๒,๕๐๐ แห่งถูกทำลายพร้อมหนังสือกว่า ๓ ล้านเล่ม ต่อมาหนังสือในจีนถูกเผาอีกครั้งช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม จูเลียส ซีซาร์ วางแผนสร้างห้องสมุดสาธารณะแห่งแรกของโรมัน แต่เขาถูกสังหารก่อนห้องสมุดเปิด ถึงปี ค.ศ. ๓๕๐ กรุงโรมมีห้องสมุดสาธารณะ ๒๘ แห่ง หลายแห่งอยู่ในบริเวณเดียวกับห้องอาบน้ำสาธารณะ ห้องสมุดโบราณล้วนมีจุดจบไม่ต่างกันมากนัก คือถูกปล้นสะดมหรือถูกวางเพลิงโดยผู้รุกราน ถูกทำลายจากอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ และจากความ ไม่ใส่ใจ ห้องสมุดโบราณมักไม่ค่อยเก็บหนังสือซ้ำกัน ดังนั้นหนังสือที่คนไม่สนใจจะเสื่อมสภาพไปตามเวลาและไม่อาจหามาทดแทน หลายครั้งที่บรรณารักษ์ทำลายงานเขียนด้วยความหวังดี โดยแนะนำให้เลือกอ่านหนังสือของนักเขียนบางคน เลือกอ่านเฉพาะงานบางเล่มของนักเขียนคนหนึ่ง ๆ และที่ร้ายที่สุดคือการทำฉบับย่อของงานเขียนยาว ๆ สุดท้ายเราจึงมีเหลือแต่ฉบับย่อ การเผาหนังสือที่กรุงเบอร์ลิน วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๓๓ ภาพ : Courtesy U.S.Holocaust Memorial Musuem/NARA โปสเตอร์โจมตีการเผาหนังสือของนาซีพิมพ์วาทะจากประธานาธิบดีรูสเวลต์ว่า "หนังสือฆ่าไม่ได้ด้วยไฟ คนตายแต่หนังสือไม่มีวันตาย" จัดทำโดย สำนักงานข้อมูลสงคราม ภาพ : Courtesy U.S.Holocaust Memorial Musuem ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ นาซีเผาทำลายหนังสือจำนวนมหาศาล มีการโทรศัพท์ขู่นักเขียนทุกวัน และออกมาตรการให้ประชาชนหวาดกลัวจนเผาหนังสือในบ้านทิ้ง มีบัญชีดำของนักเขียนและหนังสือต้องห้าม นักศึกษาเยอรมันขนหนังสือของนักเขียนยิวจากสถานศึกษาและห้องสมุดต่าง ๆ มาเผาประกอบการร้องเพลงปลุกใจ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ กล่าวว่าการเผาหนังสือเป็นความก้าวหน้าของประวัติศาสตร์มนุษย์ “เป็นยุคกลางเขาเผาผมไปแล้ว ตอนนี้เขาเผาแต่หนังสือของผม” นาซียังเผาทำลายหนังสือของประเทศต่าง ๆ ที่เข้ายึดครอง พบว่ามีการยิงหนังสือจำนวนมากในฮอลแลนด์ เผาหนังสือยิวหลายล้านเล่มในฮอลแลนด์ เบลเยียม และฝรั่งเศส มีการโยนหนังสือทิ้งลงแม่น้ำดานูบในออสเตรีย โปแลนด์สูญหนังสือ ๑๕ ล้านเล่ม เชโกสโลวาเกียสูญหนังสือ ๒ ล้านเล่ม หนังสือจำนวนมากถูกส่งไปที่เยอรมนีจนบัดนี้ยังไม่คืน แอนโทนี คอมสต็อก (Anthony Comstock ค.ศ.๑๘๔๔-๑๙๑๕) ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำลายหนังสือมากที่สุดในอเมริกา เขาเชื่อตั้งแต่หนุ่ม ๆ ว่าปีศาจควบคุมนักเขียนจำนวนมาก เขาต้องกำจัดความชั่วร้ายนี้ หนึ่งในผลงานเอกคือการออกกฎหมายห้ามการส่งข้อความผิดศีลธรรมใด ๆ ทางไปรษณีย์ ทำให้พนักงานไปรษณีย์ยึด Lady Chatterley’s Lover ของ ดี.เอช.ลอว์เรนซ์ และหนังสือรวมถึงนิตยสารกว่า ๑๒๐ ตันถูกเผา คอมสต็อกภูมิใจมากที่ขับให้นักเขียนกว่าโหลต้องฆ่าตัวตาย นักเขียนที่ถูกเผาหนังสือมากที่สุดคนหนึ่งคือ ซัลมาน รัชดี ที่ถูกสั่งฆ่าและตั้งค่าหัว ๒ ล้านเหรียญจากหนังสือเรื่อง The Satanic Verses วี.เอส. ไนพอล เห็นว่าคำสั่งนี้เป็นการวิจารณ์วรรณกรรมแบบสุดโต่งจากโคไมนี แม้แต่หนังสือเยาวชนอย่าง แฮร์รี พอต-เตอร์ ยังหนีไม่พ้นการถูกเผา (โดยผู้ที่ไม่ได้อ่าน) เพราะคนเคร่งศาสนาเห็นว่าเนื้อเรื่องสนับสนุนพ่อมดและการเรียนเวทมนตร์ แต่ที่เข้มข้นที่สุดน่าจะเป็นอาร์เจนตินา เพราะนอกจากเผาหนังสือแล้วยังมีรายการคนหายไม่เว้นแต่ละวัน ตั้งแต่นักเขียน บรรณาธิการ ตลอดจนผู้ตรวจทานต้นฉบับ นักเขียนไม่น้อยอยากเผาหนังสือของตัวเอง เช่น เวอร์จิลสั่งเสียก่อนตายให้เผา Aeneid คาฟกาขอให้ แมกซ์ บรอด เผาบันทึกงานเขียน หรือนาโบคอฟสั่งให้ภรรยาเผาต้นฉบับที่เขียนไม่เสร็จ เหล่านี้ล้วนแต่ไม่มีใครทำตามคำขอทั้งนั้น บอร์เจสแนะว่าใครอยากเผาหนังสือให้ทำเองดีกว่าไปขอคนอื่น นักเขียนบางคนต้องเสียหนังสือเพราะสัตว์ในบ้าน เช่น ซิเซโรบันทึกไว้เมื่อ ๔๕ ปีก่อนคริสต์ศักราชว่า “หนูในบ้านผมเพิ่งกัด Republic ของเพลโต” สุนัขของเซอร์ไอแซก นิวตัน วิ่งชนเชิงเทียนทำให้งานเขียนบางส่วนของเขามอดไหม้ พวกเราหลายคนรู้ซึ้งดีว่าการถูกมอดปลวกกัดกินหนังสือนั้นร้ายกาจเช่นไร หนังสือยังทำลายตัวเองได้ด้วย กระดาษที่ใช้พิมพ์หนังสือตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๕๐ ถึงสิ้นศตวรรษที่ ๒๐ มีส่วนผสมของกรด ทำให้หนังสือเสื่อมสภาพไปเองตามกระบวนการเคมี ในอเมริกามีหนังสือถึง ๘๐ ล้านเล่มที่รอวันเป็นผุยผง โดยมีอัตราการเสื่อมสภาพร้อยละ ๔.๖๖ ต่อปี มูลค่าความเสียหายรายปีย่อมมากกว่างบประมาณที่ห้องสมุดทั่วอเมริกาได้รับหลายเท่านัก A Universal History of the Destruction of Books เล่าประวัติการทำลายหนังสือตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันได้ละเอียด มีข้อมูลมากใช้อ้างอิงได้ หน้าปกมีคำชมจาก นอม ชอมสกี ว่าเป็น “หนังสือดีที่สุดในหัวข้อนี้” ผู้เขียน เฟร์นันโด บาเอซ (Fernando Báez) เป็นผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติของเวเนซุเอลาที่รวบรวมข้อมูลและใช้เวลาเขียนหนังสือนี้นานถึง ๑๒ ปี เมื่ออ่านไปไม่นานก็ให้รู้สึกว่าเหตุการณ์เผาหนังสือไม่ว่าที่ใดในโลกล้วนซ้ำรอยเดียวกัน สุดท้ายไม่ว่าห้องสมุดยิ่งใหญ่เพียงใดต้องถูกทำลายด้วยสงคราม เราควรใช้เหตุผลใดอธิบายความโหดร้ายอันไม่ควรเกิดขึ้นเหล่านี้ ผู้เขียนกล่าวว่า “ผู้ทำลายหนังสือประกาศทัศนะหนึ่งที่พบได้ในทุกวัฒนธรรม มนุษย์ทุกคนแบ่งโลกเป็น ‘พวกเรา’ และ ‘พวกเขา’ ” |
http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=1021 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น