"บุนมี"นักประวัติฯลาว ชี้"ไหหิน"สุสานพิสดาร 3000 ปี
เนติ โชติช่วงนิธิ
ไห หินที่ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นอีกหนึ่งร่องรอยทางประวัติศาสตร์อันแสดงให้เห็นถึงวิวัฒ นาการด้านอารยธรรมของคนลาวโบราณ
บุนมี เทบสีเมือง นัก ค้นคว้าประวัติศาสตร์ สปป.ลาว กล่าวถึงเรื่องไหหิน คือประเพณีการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการฝังกระดูก (ฝังศพคนตายครั้งที่สอง) ในอดีตกาลเมื่อประมาณ 2,500 ปี หรือมากกว่านั้น(หนังสือ “ความเป็นมาของชนชาติ ลาว การตั้งถิ่นฐานและสถาปนาอาณาจักร” เล่ม 1 ไผท ภูธา แปล)
นักค้นคว้าประวัติศาสตร์ท่านนี้ ได้ขยายความต่อจากถิ่นกำเนิดของชนชาติลาว เชื่อว่า มนุษย์โบราณได้เคลื่อนย้าย จากสายภูเลย (ถ้ำภูเลย Phou Leuy แขวงหัวพัน) มาตั้งถิ่นฐานตามสายภูต่างๆ รอบๆ ทุ่งภูเพียงเชียงขวางนี้มานานนับหมื่นปี แล้วจึงเคลื่อนย้ายจากเขตภูดอยออกมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตที่ราบ โดยเฉพาะในเขตทุ่งภูเพียงเชียงขวาง (Xiengkhuang Plateau) เป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว
คนลาวโบราณ ที่ย้ายจากเขตภูดอยลงมาตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ในเขตทุ่งเพียงหรือพื้นที่ราบ ได้เปลี่ยนแปลงแบบ, วิธีการทำพิธีกรรมเกี่ยวกับการฝังศพ (ฝังกระดูก) คนตาย จากการสร้างเสาหินตั้งแบบใช้แท่งหิน ธรรมชาติ มาเป็นสร้างไหหินด้วยการขุดเจาะ ตัดเอาก้อนหินธรรมชาติขนาดใหญ่จากภูเขา มาประ ดิษฐ์สร้างเป็นไหหินขนาดใหญ่ เพื่อบรรจุเครื่องสังเวยหรือสิ่งของท่านอุทิศ ส่งไปให้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
ประเพณีการสร้างไหหินดังกล่าว เป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าของคนลาว โบราณในยุคโลหะ ที่รู้จักวิธีการประดิษฐ์เครื่องมือจากโลหะ โดยเฉพาะโลหะที่เป็นเหล็ก เมื่อประมาณ 3,000 ปีมานี้ เพื่อใช้ขุดเจาะตัดหินธรรมชาติ ประดิษฐ์สร้างให้เป็นไหหินขนาดใหญ่และมีความงดงาม
ไหหินที่ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง บางลูกมีความสูงมากกว่า 3 เมตร บางลูกมีน้ำหนักมากกว่า 15 ตัน
สถานที่ขุดเจาะเอาหินมาประดิษฐ์สร้างเป็นไหหินนั้น อยู่ห่างไกลจากที่ตั้งไหหิน ซึ่งเป็นสถานที่ประ กอบพิธีฝังศพ ประมาณ 5 – 10 กิโลเมตร ระยะทางจะใกล้หรือไกลนั้น ขึ้นอยู่กับจุดที่ตั้งของสายภูหินทรายและสถานที่ประกอบพิธีกรรมฝังศพ
นักค้นคว้าท่านนี้ ชี้ให้เห็นไหหินจำนวนมากมาย “จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น ทำให้ทราบว่า ทั่วทุ่งภูเพียงเชียงขวางหรือตามที่รู้จักกันว่า “ทุ่งไหหิน” นั้น มีไหหินอยู่ประมาณ 60 จุด คาดคะเนจำนวนไหหินรวมทั้ง หมดคิดว่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ลูก”
ระยะที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจขุดค้นศึกษาเกี่ยวกับหลุมฝังศพบริเวณทุ่งไหหินมาแล้วหลายครั้ง เช่น มาเดอแลน โกลานี (Madeleine Colani) ในทศวรรษที่ 1930 ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 นี้ ก็ได้มีการสำรวจเพิ่มเติมอีก โดยนักสำรวจหลายคณะ เช่น นิตตา เออิจิ (Nitta Eiji) ปี ค.ศ. 1996 ทองสา ไชยะวงศ์คำดี ปี ค.ศ. 1998
และล่าสุดคือ โครงการลาว – ยูเนสโก เพื่อปกปักรักษามรดกทุ่งไหหิน โดย Assessment Ltd. เป็นผู้ดำเนินการสำรวจและเสนอรายงานในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2004
ผู้เขียน (บุนมี) ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับไหหินที่ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง เห็นว่า เป็นอารยธรรมของคน เผ่าเดียวกับชนเผ่าที่สร้างเสาหินตั้งไว้ที่เมืองหัวเมืองแขวงหัวพัน เพราะว่าทั้งสองแหล่งอารยธรรมนี้เป็นประเพณีการประกอบพิธีฝังศพ ซึ่งพัฒนามาจากการสร้างเสาหินตั้งในเขตภูสูง มาเป็นการสร้างไหหินในเขตทุ่งภูเพียง แขวงเชียงขวาง
สำหรับ การเก็บรักษากระดูกของคนตายนั้น ทำแบบเดียวกัน คือนำกระดูกคนตายใส่หม้อ ฝังไว้ในพื้นดินรอบๆ เสาหินหรือไหหินนั้นแล้วนำเครื่องใช้สอยต่างๆ ฝังไว้ด้วย ประเพณีดังกล่าวยังแพร่หลายขยายลาม ไปสู่เขตที่ราบสูงโคราช (Korat Plateau) อีกด้วย
แต่ ที่ เขตที่ราบสูงโคราชนั้นได้พัฒนาไปสู่อีกรูปแบบหนึ่งที่คล้ายคลึงกันนี้ แต่ได้เปลี่ยนแปลงจากการสร้างไหหินไปสู่การสร้างไหหินดินเผา การสร้างเครื่องใช้สอยต่างๆ ชุมชนในเขตพื้นที่ราบ มีความสามารถทำได้ดีกว่าและทำได้ก่อนชุมชนในเขตภูดอยหลายร้อยปี
บุนมี นักค้นคว้าประวัติศาสตร์ลาว ได้กล่าวถึงสุสานพิสดารอายุหลายพันปีที่เหล่าป่าโก (Lao Pa Ko) ว่า ป่าเหล่าหรือป่าละเมาะแห่งนี้ อยู่ริมฝั่งขวาของสายน้ำงึม อันเป็นคุ้งน้ำตั้งอยู่ในเขตเมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์ เหล่าป่าโกเป็นเนินดินสูงที่สายน้ำงึมไม่สามารถท่วมถึง เว้นแต่ในบางปีที่มีระดับน้ำสูงผิดปกติ ดังนั้นชุมชนลาวโบราณในเขตดังกล่าวจึงเลือกให้เป็นป่าช้า ฝังศพหรือกระดูกคนตาย
กาลเวลาผ่านมาพันกว่าปี สถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นป่ารกเรื้อ ต่อมาชาวบ้านใกล้เคียงจึงเข้ามาถางป่าทำไร่ แล้วก็ทิ้งเป็นป่าเหล่าและหมุนเวียนมาถางเป็นไร่ขึ้นใหม่ ทำดังนี้เป็นรอบหมุนเวียนมาหลายชั่วอายุคน ชาวบ้านใกล้เคียงพากันเรียกเหล่าป่าโก บางพวกก็เรียกว่า “เวินหนองขอน” เพราะว่าน้ำงึมบริเวณนั้นโค้ง เป็นวุ้งเวิ้งเวิน ที่สายน้ำไหลวนอยู่ใกล้ปากห้วยหนองขอน
ในต้นทศวรรษที่ 1990 กลุ่มบริษัทบูรพา ได้สัมปทานสร้างเป็นแหล่งที่พักและท่องเที่ยว(Resort) เพราะว่าสถานที่ดังกล่าวมีทิวทัศน์ทางธรรมชาติงดงามมาก และภายหลังมีการบุกเบิกถางป่าสร้างเป็นอนามัยสถาน (ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ) แล้วพบวัตถุหลายอย่างซึ่งบ่งชี้ว่า สถานที่ดังกล่าวเป็นป่าช้าเก่าที่มีชั้นดินทับถมกันหลายชั้น อาจเป็นป่าช้าเก่าที่มีอายุยาวนานหลายพันปี จากนั้นจึงมีการสำรวจเพื่อขุดค้นประกอบการศึกษาค้นคว้าทางด้าน โบราณคดี
เจ้าภาพขุดค้นดังกล่าว แอ นนา กาเลน (Anna Kallen) จากมหาวิทยาลัยอัปปะสาลา (APPASALA UNIVERSITY) ประเทศสวีเดน ในโครงการเขียนบทวิทยานิพนธ์ เพื่อจบการศึกษาปริญญาเอกของตน “And Through Flows the River, archaeology and the pasts of Loa Pako” (ตีพิมพ์ ค.ศ. 2004)ได้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากกรมพิพิธภัณฑ์และวัตถุโบราณ กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม (สปป.ลาว) ซึ่งได้เริ่มมาตั้ง แต่ปี ค.ศ.1995 ต่อระยะที่ 2 ปี ค.ศ. 2000 และระยะที่ 3 ปี ค.ศ. 2002–2003 ขุดค้นรวม 16 หลุม
สิ่งที่พบในหลุมฝังศพที่ขุดค้น มีวัตถุโบราณหลายอย่าง อาทิ ขวานหิน หอกเหล็ก ลูกล้อหินสำหรับปั่นเส้นฝ้ายและทำลวดลายผ้า ลูกตุ้มแก้ว (ลูกปัด) สำหรับร้อยเป็นสร้อยคอ กาจ้ำสำหรับทำลวดลายหม้อดินเผา นอกจากนี้ยังมีเครื่องใช้ที่ทำด้วยทองสำริดหลายอย่าง เช่น กำไลข้อมือ ตุ้มหู กระดิ่งขนาดเล็ก
จาก การศึกษาค้นคว้า ตรวจสอบชั้นดินและวัตถุที่พบมีอายุประมาณ 1,500 ปี และมีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งพบในหลุมฝังศพที่บ้านเชียง (อุดรธานี) บ้านนาดี (ขอนแก่น) และที่เนินอู่ลก (Neon U - Loke) ในเขตยอดแม่น้ำมูล มีอายุร่วมสมัยเดียวกัน (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 3 -4) แต่ที่หลุมฝังศพบ้านเชียงและบ้านนาดีนั้น มีวัตถุฝังอยู่ลึกลงไปอีก ซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึง 5,000 – 7,000 ปี
บุนมี เทบสีเมือง นักค้นคว้า ประวัติศาสตร์ลาว ได้ชี้ให้เห็นร่องรอยเชื่อมของอารยธรรมสองฝั่งโขง จากหลักฐานที่สำรวจขุดค้นหลุมฝังศพคนโบราณที่เหล่าป่าโก สปป.ลาว เห็นว่า
“ที่นี่เป็นวัฒนธรรมของชุมชนที่มี อารยธรรมเดียวกันกับชุมชนบ้านเชียง บ้านนาดี และเนินอู่ลก ในภาคอีสานของประเทศไทย”
-------------
ที่มา..
http://www.siamrath.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น